เพราะ “น้ำ” ครอบคลุมพื้นผิวของโลกมากกว่า 3 ใน 4 ส่วน และยังเป็นระบบนิเวศที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน
ในปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำครอบคลุมกว่า 36,616.16 ตารางกิโลเมตร หรือ 7.5% ของพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการจัดการน้ำ และการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบ นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมอุทกภัย และเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร
มูลนิธิ WWF ได้ดำเนินงานอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจืด และขับเคลื่อนการทำงานผ่านกลไกลระดับชุมชน ไปจนถึงระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศน้ำจืด และส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำจืดร่วมกันอย่างยั่งยืน
“ลุ่มน้ำแม่น้ำปราจีนบุรีตอนล่าง” ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นลุ่มน้ำสาขาที่สำคัญของลุ่มน้ำบางประกง มีอาณาเขตพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด 10 อำเภอ ของจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 2,190 ตร.กม.
“พื้นที่ชุ่มน้ำหนองทุ่งทอง” ได้รับการจัดลำดับให้เป็นที่ชุ่มน้ำที่ความสำคัญระดับนานาชาติ (Wetlands of International Importance site) 1 ใน 69 แห่ง ของประเทศไทย
ทรัพยากรน้ำจะสำคัญกับสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศและสำคัญกับมนุษย์ในการอุปโภคบริโภคทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของประเพณีและวัฒนธรรมให้คนในชุมชนได้มีปฎิสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน เหมือนดังเช่น “คลองขนมจีน” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เป็นทั้งเส้นทางคมนาคม แหล่งอาหาร ตลาดท้องถิ่น และสายน้ำหลักที่ชุมชนร่วมกันจัดงานประเพณีในวาระต่างๆ การดำเนินโครงการจึงมุ่งเน้นการอนุรักษ์ที่ไม่ใช่เพียงการพัฒนาคุณภาพน้ำและฟื้นฟูระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความเป็นชุมชนมากยิ่งขึ้น