โครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ (ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง)

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากระบบนิเวศที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณไม้นานาชนิด กลับกลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยวพร้อมกับสภาพดินที่เสื่อมโทรมลงอย่างรุนแรง ภาพภูเขาหัวโล้นและทุ่งร้างได้เข้ามาแทนที่ภูมิทัศน์เขียวขจีที่เคยหนาแน่น

เราทำอะไร 

โครงการ FLR349 ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวพระราชดำริ “ป่า 3 อย่าง ให้ประโยชน์ 4 อย่าง” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) โดยผสมผสานกับการพัฒนาระบบอาหารท้องถิ่นและเกษตรกรรมยั่งยืน ทำให้โครงการฯ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือ และสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการทำไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีในการทำการเกษตรสู่การทำเกษตรเชิงนิเวศ การดำเนินโครงการฯ เป็นการปูทางสู่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วยการหยุดการทำลายหน้าดินและเพิ่มแนวกันชน รวมทั้งปกป้องทุนทางธรรมชาติและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล พืชผัก และสมุนไพร เป็นแนวปฏิบัติด้านวนเกษตรที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน และเพิ่มแหล่งน้ำ

อีกทั้งยังส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและฟื้นฟูภูมิทัศน์ที่เสื่อมโทรม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิจัยเชิงลึกเพื่อประเมินความเป็นไปได้ของหลักวนเกษตร การเสริมสร้างศักยภาพและการฝึกอบรมเกี่ยวกับแนวปฏิบัติเกษตรยั่งยืน การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการรับรองเกษตรอินทรีย์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ตลอดจนการพัฒนานโยบายในระดับท้องถิ่นและระดับชาติเพื่อสนับสนุนนโยบายที่ส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติด้านนิเวศเกษตร

การสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์

รูปแบบโครงการฯ ได้ช่วยผลักดันการสนับสนุนนโยบายเพื่อการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนผ่านความร่วมมือเชิง   กลยุทธ์กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น โดยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ และยังได้ส่งเสริมความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยความร่วมมือเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ อาทิ กรมป่าไม้ เครือเซ็นทรัล และไทยคม ซึ่งร่วมส่งเสริมการนำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้และสนับสนุนเป้าหมายหลักของมูลนิธิ WWF ในด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ ระบบอาหารที่ยั่งยืน ระบบการเงินที่มีความรับผิดชอบ และการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ

การติดตามและประเมินผล

การติดตามและประเมินผลแปลงปลูกป่านับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จของโครงการ FLR349 ช่วยให้มั่นใจได้ว่าต้นกล้าจะเจริญเติบโตได้ดีโดยไม่มีการใช้ปุ๋ยสารเคมีหรือยาฆ่าแมลง และช่วยให้เกิด ความหลากหลายทางชีวภาพดีขึ้นตามลำดับ เจ้าหน้าที่นักวิจัยของมูลนิธิ WWF ในพื้นที่ได้ทำงานร่วมกับตัวแทนจากหมู่บ้านในการตรวจสอบภาคสนามในชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการประเมินผลจะมีความเป็นกลาง โดยในเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา ได้ประเมินผลรอบแรกสำเร็จเรียบร้อย แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของโครงการฯ ในด้านความโปร่งใสและแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น

สรุปผลสำเร็จ

ในปัจจุบัน มีเกษตรกรรายย่อยในอำเภอแม่แจ่ม 90 รายเข้าร่วมโครงการนิเวศเกษตรนี้ โดยได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรของตนซึ่งครอบคลุมถึง 381 ไร่ (ประมาณ 60.96 เฮกตาร์) ให้กลายเป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ โครงการนี้ได้เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีพืชและพันธุ์ไม้กว่า 120 ชนิดที่เติบโตงอกงามในภูมิทัศน์ที่ได้รับการฟื้นฟู ซึ่งมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สัก และไม้ประดู่ ควบคู่ไปกับพืชเศรษฐกิจที่ทรงคุณค่า เช่น กล้วย และพืชสมุนไพร อย่างมะขามป้อม เป็นต้น 

การรวมกลุ่มเกษตรกรและการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน

โครงการฯ ประสบความสำเร็จในการประสานงานกับเกษตรกรรายย่อยเพื่อจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเฉพาะทางขึ้นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแปรรูปมะขาม และกลุ่มผักปลอดสารเคมี โดยโครงการฯ ไม่เพียงแต่ให้การสนับสนุนด้านเทคนิคซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรผู้สูงอายุแล้ว แต่ยังช่วยส่งเสริมการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนภายในชุมชน

การเพิ่มรายได้และการเข้าถึงตลาด

ในปี 2566 กลุ่มแปรรูปมะขามสามารถสร้างรายได้ประมาณ 50,000 บาท และยังคงดำเนินต่อเนื่องมาถึงจนปี 2567 เมื่อเกษตรกรเริ่มสามารถเก็บเกี่ยวฝักมะขามจากแปลงปลูกในโครงการ FLR349 ได้ สำหรับกลุ่มผักปลอดสารเคมี เป็นการปลูกผักพื้นบ้านในพื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัยของตัวเอง โดยผลผลิตเหล่านี้ปลูกโดยไม่ใช้ปัจจัยการผลิตอื่น เช่น ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง และได้นำไปขายในตลาดสีเขียวในท้องถิ่นซึ่งพัฒนาโดยโครงการเสริมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำผ่านการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน (ระยะที่ 2) ภายใต้ WWF ประเทศไทย ซึ่งสนับสนุนโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) โดยผลผลิตเหล่านี้สร้างรายได้รายเดือนให้เกษตรกรได้ตั้งแต่ 500 ถึง 2,000 บาท โครงการฯ จึงมีแผนที่จะให้การสนับสนุนด้านการเงินสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการตลาดและการส่งเสริมการตลาดท้องถิ่นร่วมกับเกษตรกรรายย่อย

ความสำเร็จนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่ประสบผลสำเร็จของโครงการ FLR349 ในการสร้างชุมชนเกษตรกรที่เข้มแข็ง การส่งเสริมแนวทางเกษตรนิเวศ และการพัฒนาโอกาสในการสร้างรายได้สำหรับเกษตรกรรายย่อย

ความสำเร็จนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่ประสบผลสำเร็จของโครงการ FLR349
ในการสร้างชุมชนเกษตรกรที่เข้มแข็ง การส่งเสริมแนวทางเกษตรนิเวศ
และการพัฒนาโอกาสในการสร้างรายได้สำหรับเกษตรกรรายย่อย

 

คุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งของงานอนุรักษ์ไปกับเราได้
การสนับสนุนของท่านคือหนึ่งในการสร้างพลัง และต่อลมหายใจให้กับสัตว์ป่า