เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ดร.กอบศักดิ์ ชุติกุล ประธานกรรมการ และคณะกรรมการของมูลนิธิดับเบิ้ลยูดับเบิ้ลยูเอฟ ร่วมงานเปิดตัวหนังสือและนิทรรศการ “วัวแดง…ลมหายใจแห่งป่าราบต่ำ” โดยมี WWF ประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย
ภาคีเครือข่ายอีก 9 องค์กร ร่วมกันดำเนินการจัดทำหนังสือและนิทรรศการดังกล่าว ณ ห้องออดิทอเรียม และโถงบริเวณชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
วัวแดง (Bos javanicus) เป็นสัญลักษณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยรูปลักษณ์ที่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบันวัวแดงมีสถานภาพใกล้
สูญพันธุ์ ในบัญชีแดงของไอยูซีเอ็น เนื่องจากการล่า โดยเฉพาะการล่าเพื่อสะสมเขาวัวแดง รวมไปถึงการสูญเสียพื้นที่อาศัยที่เป็นป่าผลัดใบบริเวณที่ราบต่ำ ประกอบด้วย
ป่าผลัดใบหรือป่าโปร่ง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประชากรวัวแดงถูกแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มเล็กและมีจำนวนลดลงอย่างน่ากังวล
วัวแดงเป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับความสนใจในงานอนุรักษ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นตัวช่วยในการสร้างความสมดุลในระบบห่วงโซ่อาหาร รักษาความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ และเป็นตัวแทนของการรักษาป่าพื้นราบ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ จากความสำคัญของวัวแดงที่ได้กล่าวมา ทำให้เกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ WWF ประเทศไทย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ
‘การประเมินสถานภาพประชากร และการกระจายของวัวแดงในประเทศไทย’ ไปเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา จากการประเมินพบว่าประชากรวัวแดงในธรรมชาติของประเทศไทยมีทั้งสิ้น 761-1,086 ตัว ในขณะที่มีการประเมินประชากรวัวแดงทั่วโลกไว้ไม่เกิน 8,000 ตัว
ซึ่งผลจากการประชุมดังกล่าว รวมถึงทิศทางการจัดการประชากรวัวแดงในประเทศไทยได้ถูกรวบรวมมาในรูปแบบหนังสือ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีต่าง ๆ
อีก 9 องค์กร ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การพิพธภัณฑ์-วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมอุทยานแห่งชาติ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย องค์การแพนเทอราเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ (Panthera) และไอยูซีเอ็น-แผนงานประเทศไทย (IUCN) โดยการจัดงานเปิดตัวหนังสือและนิทรรศการภาพภ่าย “วัวแดง…ลมหายใจแห่งป่าราบต่ำ” มุ่งหวังให้เป็น
การเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์วัวแดงสู่สาธารณชนและผู้ที่สนใจทั่วไป เพื่อให้เกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าความสำคัญของวัวแดงในระบบนิเวศ เนื่องจากวัวแดงที่กระจายอยู่ในพื้นที่คุ้มครองของประเทศไทยหลายแห่งอยู่ในสภาพวิกฤต และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ภายในงานมีเวทีเสวนา ดำเนินการโดย คุณสถาพร ด่านขุนทด จากข่าว 3 มิติ และมีดร. โรเบิร์ต สไตน์เมทซ์ นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์ จาก WWF ประเทศไทย มาร่วมแบ่งปันความสำคัญและแนวทางการอนุรักษ์วัวแดง
รวมถึงเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากช่างภาพนักอนุรักษ์ ภายใต้หัวข้อ “วัวแดง…ผ่านเลนส์” อีกด้วย