ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ SMART Patrol System เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพในงานป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาทักษะของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน จึงได้ร่วมมือกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ให้มีการจัดการฝึกอบรมการสร้างวิทยากรเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการฝึกเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนในสังกัดกรมอุทยานฯ ไปแล้วทั้งสิ้น 2 หลักสูตร ในปี 2562 ถึง 2564
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรมอุทยานฯ มีวิทยากรครูฝึกการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำชุดลาดตระเวนและยุทธวิธีในระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพียง 62 คน ในขณะที่มีพื้นที่อนุรักษ์ในสังกัดกรมอุทยานฯ ที่ใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพอย่างเข้มข้นถึง 232 แห่ง
ในการนี้มูลนิธิดับเบิ้ลยูดับเบิ้ลยูเอฟ ร่วมกับกรมอุทยานฯ และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย เห็นความจำเป็นในเพิ่มจำนวนวิทยากรครูฝึกให้เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ให้ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย จึงได้ร่วมสนับสนุนใน “โครงการฝึกอบรมการสร้างวิทยากรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ
งานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ รุ่นที่ 3” หลักสูตรวิทยากรครูฝึกการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำชุดลาดตระเวนและยุทธวิธีในระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ณ ศูนย์ฝึกอบรมการอนุรักษ์เสือโคร่งระดับภูมิภาค เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี โดยมีนายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ร่วมกล่าวเปิดงานในพิธีเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
โครงการฝึกอบรมดังกล่าวมีทั้งการบรรยายเสริมสร้างความรู้และการฝึกภาคปฏิบัติ โดยดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 29 กรกฎาคม 2567 ผู้เข้าร่วมการฝึกจะเป็นบุคลากรที่มีหน้าที่หลักในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามจำนวน 30 คน โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพและสร้างมาตรฐานเดียวกันในการป้องกันรักษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์เดิมที่มีอยู่ และช่วยลดภัยคุกคามต่อทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพในเขตพื้นที่อนุรักษ์ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ